TH EN
home > กฎเกณฑ์ > สรุปกฎเกณฑ์สำคัญ
การพิจารณากำหนดวงเงินซื้อขายหลักทรัพย์ของลูกค้า

ข้อปฏิบัติในการกำหนดวงเงินลูกค้า

         1.กำหนดวงเงินของลูกค้าเทียบกับขนาดของเงินกองทุนของสมาชิกอย่างเหมาะสม

         เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการกระจุกตัวในการให้วงเงินแก่ลูกค้ารายใดรายหนึ่งมากเกินไป และเพื่อป้องกันมิให้สมาชิกให้วงเงินแก่ลูกค้าสูงเกินฐานะของบริษัท

         2.กำหนดวงเงินให้เหมาะสมกับลูกค้า

         โดยพิจารณาจากความสามารถในการชำระหนี้ และข้อมูลลูกค้าจากการทำ KYC/CDD

การกำหนดวงเงิน: ลูกค้าบุคคลธรรมดา

     ตรวจสอบความมั่นคงสม่ำเสมอ และความสมเหตุสมผลของฐานะการเงิน แหล่งที่มาของรายได้ และทรัพย์สินที่ลูกค้า

นำมาแสดง โดยพิจารณาจากเอกสารจากแหล่งที่เชื่อถือได้ อาทิ

     1.เอกสารแสดงทรัพย์สินที่ลูกค้านำมาแสดงตัวอย่างเอกสารที่แสดงทรัพย์สิน ได้แก่ บัญชีเงินฝากเฉลี่ยย้อนหลัง 3 เดือน / พันธบัตร / หุ้นกู้ / หน่วยลงทุน / ตั๋วแลกเงินที่สถาบันการเงินเป็นผู้ออก / หลักทรัพย์จดทะเบียน ซึ่งควรแสดงถึงความมีสภาพคล่อง /ปลอดจากภาระผูกพัน / เพียงพอต่อการพิจารณาวงเงิน / มีความสมเหตุสมผลของการเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน

วงเงินที่ได้รับ

ไม่ควรเกิน 3 เท่า ของมูลค่าเฉลี่ยของทรัพย์สินที่แสดง

    กรณีที่เอกสารแสดงถึงทรัพย์สินที่เป็นหลักทรัพย์ที่ลูกค้ามีไว้กับสมาชิกอื่น หลักทรัพย์นั้นควรปลอดภาระผูกพัน
และมีข้อมูลที่แสดงความเคลื่อไหวของบัญชีอย่างเพียงพอ

วงเงินที่ได้รับ
ไม่ควรเกิน 1 เท่าของมูลค่าเฉลี่ยของทรัพย์สินที่แสดง

     2.แหล่งที่มาของรายได้ตัวอย่างเอกสาร ได้แก่ หนังสือรับรองเงินเดือน / หลักฐานแหล่งที่มาของรายได้ / ประวัติการเดินบัญชีธนาคาร /หลักฐานรายได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน ซึ่งควรตรวจสอบความน่าถือของเอกสารเป็นสำคัญ 
วงเงินที่ได้รับ
ไม่ควรเกิน 12 เท่าของรายได้ประจำต่อเดือน

     3.ลูกค้าเจ้าของกิจการหลักฐานทางการเงิน ควรพิจารณาจากเอกสารการเป็นเจ้าของกิจการจากแหล่งที่สามารถเชื่อถือได้
วงเงินที่ได้รับ
ไม่ควรเกิน 1 เท่า ของมูลค่าของผู้ถือหุ้นในสัดส่วนของลูกค้า

(ตัวอย่าง ส่วนของผู้ถือหุ้น 100 ล้านบาท สัดส่วนการถือหุ้น 15% ดังนั้น วงเงินไม่ควรเกิน 15 ล้านบาท)

การกำหนดวงเงิน: ลูกค้านิติบุคคล

พิจารณาจากงบการเงินปีล่าสุดที่ผ่านการตรวจสอบแล้ว อาทิ งบแสดงฐานะทางการเงิน งบกำไรขาดทุน
หรืองบกระแสเงินสด (ถ้ามี)

วงเงินที่ได้รับ
ไม่ควรเกิน 1 เท่า ของส่วนของผู้ถือหุ้นตามงบการเงิน

การกำหนดวงเงิน: กรณี Cash Balance
ควรพิจารณาข้อมูลจาก KYC/CDD ประกอบด้วย โดยในกรณีที่ลูกค้าไม่ได้แสดงเอกสารฐานะทางการเงินควรกำหนดวงเงินรับโอนไม่เกิน 500,000 บาท หากมีการพิจารณาปัจจัยเชิงคุณภาพด้านอื่นเพิ่มเติมหลายปัจจัยร่วมกัน อาทิ อาชีพ ตำแหน่งงาน หรือ อายุ เป็นต้น โดยข้อมูลที่นำมาพิจารณามาจากแหล่งที่เชื่อถือได้และมีความสมเหตุสมผล อาจพิจารณากำหนดเกณฑ์จำนวนเงินรับโอนเพิ่มได้ แต่ไม่ควรเกิน 1,000,000 บาท

โดยมีแนวทางปฏิบัติเพิ่มเติมดังนี้

  1. ทบทวน KYC/CDD และฐานะทางการเงินของลูกค้าในกรณีที่ลูกค้าโอนเงินเข้ามาสูงกว่าเกณฑ์บ่อยครั้งหรือมีนัยสำคัญ
  2. ทำ KYC/CDD เพิ่มเติม หากข้อมูลไม่เพียงพอ เมื่อเทียบกับจำนวนเงินที่โอนเข้ามา
  3. การทบทวนฐานะการเงินของลูกค้าควรมีเอกสารสนับสนุนการทบทวนทำนองเดียวกับการพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า
  4. กรณีลูกค้าปัจจุบัน อาจจะข้อมูลมูลค่าทรัพย์สินที่มีอยู่กับบริษัทสุทธิปลอดภาระผูกพันเป็นแนวทางในการกำหนดเกณฑ์จำนวนเงิน
  5. พิจารณาถึงตัวตนที่แท้จริงของลูกค้า และพฤติกรรมที่อาจบ่งชี้ถึงความเป็น Nominee ของบุคคลอื่นในการวิเคราะห์และกำหนดขนาดวงเงินซื้อขายด้วย​

วงเงินที่ได้รับ
ไม่เกินเงินสด หรือ เงินค่าขายหลักทรัพย์ที่วางเป็นหลักประกันในการชำระราคา

ขั้นตอนการพิจารณา และผู้มีอำนาจในการอนุมัติวงเงิน

      1.กำหนดผู้มีอำนาจอนุมัติวงเงินในแต่ละลำดับชั้นไว้ให้ชัดเจน
      2.การอนุมัติวงเงินจำนวนสูงควรเพิ่มความรัดกุมในการพิจารณามากยิ่งขึ้น
      3.ในการขออนุมัติและการอนุมัติ ผู้ขอและผู้อนุมัติควรจัดทำบันทึกความเห็นและเหตุผลประกอบการพิจารณา
       วงเงินที่ชัดเจนในทุกขั้นตอน กรณีที่มีความเห็นไม่สอดคล้องกัน ควรบันทึกความเห็นดังกล่าวให้ชัดเจน
      4.ผู้อนุมัติควรพิจารณาอนุมัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด
      5.กรณีวงเงินที่ขออนุมัติสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ควรมีขั้นตอนดำเนินการดังนี้

         5.1 วงเงินที่ขออยู่ในข่ายที่บุคคล/คณะบุคคล มีได้รับมอบอำนาจพิจารณาอนุมัติได้

                - ผู้ขออนุมัติควรจัดทำบันทึกความเห็นและเหตุผลโดยละเอียดเพื่อเสนอต่อบุคคล/คณะบุคคลเป็นกรณีพิเศษ

                - บุคคล/คณะบุคคลควรระบุเหตุผลที่ชัดเจนในการอนุมัติวงเงินที่สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด
                - บุคคล/คณะบุคคลควรรายงานการอนุมัติวงเงินต่อคณะกรรมการบริษัททราบโดยเร็ว หากคณะกรรมการไม่เห็นด้วย
                - สมาชิกควรทบทวนวงเงินของลูกค้ารายนั้นโดยเร็ว
         5.2 วงเงินที่ขอไม่อยู่ในข่ายที่บุคคล/คณะบุคคล มีได้รับมอบอำนาจพิจารณาอนุมัติได้

                - ผู้ขออนุมัติควรจัดทำบันทึกความเห็นและเหตุผลโดยละเอียดเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการบริษัทเป็นกรณีพิเศษ

                - คณะกรรมการบริษัทควรระบุเหตุผลที่ชัดเจนในการอนุมัติวงเงินที่สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด

     6.ควรจัดเก็บและเรียกดูข้อมูลของลูกค้าที่ให้วงเงินไม่เป็นไปตามแนวทางปฏิบัติงานได้ทันทีเมื่อ ก.ล.ต. หรือ
ตลาดหลักทรัพย์ร้องขอ
     7.กรณีมีเหตุจำเป็นที่เห็นควรพิจารณาเพิ่มวงเงินชั่วคราวให้แก่ลูกค้า

         7.1 ควรกำหนดขั้นตอนการพิจารณา ผู้มีอำนาจอนุมัติ รวมทั้งระบุเหตุผลและระยะเวลาของวงเงินให้ชัดเจน
         7.2 การขออนุมัติวงเงินชั่วคราวทำให้วงเงินสูงกว่าเกณฑ์ปกติ ควรปฏิบัติทำนองเดียวกันกับข้อ 5
         7.3  ควรกำหนดอัตราสูงสุดของวงเงินชั่วคราวตามสัดส่วนของวงเงินเดิมที่ไม่ทำให้วงเงินเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
         7.4  การเพิ่มวงเงินชั่วคราวเป็นการอนุมัติเพื่อประโยชน์ในการซื้อขายเป็นครั้งคราวเท่านั้นและควรกลับไปสู่วงเงินเดิมโดยเร็ว
         7.5  การอนุมัติวงเงินชั่วคราวให้ลูกค้ารายใดบ่อยครั้ง ควรพิจารณาทบทวนวงเงินของลูกค้ารายนั้นโดยไม่ชักช้า

การทบทวนวงเงินของลูกค้า

     1.ควรทบทวนวงเงินของลูกค้าอย่างน้อยปีละครั้ง
     2.ควรทบทวนวงเงินทันทีหรืออาจพิจารณาระงับการซื้อขายของลูกค้ากรณีต่อไปนี้
         2.1 มีการเปลี่ยนแปลงที่อาจมีผลกระทบต่อฐานะการเงินและความสามารถในการชำระหนี้ อาทิ ธุรกิจเสียหาย 
         2.2 มีพฤติกรรมการซื้อขายหลักทรัพย์ในลักษณะที่อาจไม่เหมาะสม  หรือตามที่ตลาดมีข้อสังเกต
         2.3 มีพฤติกรรมที่อาจเข้าข่ายการดำเนินการที่เป็นการฟอกเงินหรือการซื้อขายเป็นกลุ่มหรือเป็น Nominee
     3.การทบทวนหรือระงับวงเงิน อาจเลือกใช้เกณฑ์ที่กำหนดหรือพิจารณาจากประวัติการซื้อขายและชำระราคาของลูกค้า
     4..ควรทบทวนวงเงินให้เหมาะสมกับพฤติกรรมการลงทุนของลูกค้า โดยไม่เพิ่มวงเงินของลูกค้าจากการพิจารณาเพียงข้อมูลการซื้อขายที่ผ่านมา หรือประวัติไม่เคยผิดนัดชำระหนี้
     5.ควรพิจารณากำหนดวงเงินให้ลูกค้าที่สมาชิกทราบว่ามีพฤติกรรมดังต่อไปนี้ด้วยความเข้มงวดกว่าปกติ  
         5.1 ลงทุนในลักษณะซื้อขายเร็ว
         5.2 ซื้อขายตามข่าวลือ
         5.3 ซื้อขายหลักทรัพย์ที่มีความผันผวนสูง โดยอาจไม่คำนึงถึงปัจจัยพื้นฐาน
         5.4 ซื้อขายกระจุกตัวในหุ้นที่อยู่ใน Turnover List
         5.5 มีประวัติการซื้อขายไม่เหมาะสม เช่น เคยถูกลงโทษหรือกล่าวโทษจากหน่วยงานทางการ

การปรับลดวงเงินของลูกค้า

กรณี ได้รับแจ้งหรือมีข้อสังเกตจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยทางโทรศัพท์ ถึงพฤติกรรมการซื้อขายหลักทรัพย์ของลูกค้าที่อาจมีลักษณะไม่เหมาะสม

ปรับลดวงเงินอย่างน้อย 20% ของวงเงินซื้อขายหลักทรัพย์

กรณี ได้รับหนังสือแจ้งหรือมีข้อสังเกตจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยทางโทรศัพท์เป็นลายลักษณ์อักษร
หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ ถึงพฤติกรรมการซื้อขายหลักทรัพย์ของลูกค้าที่อาจมีลักษณะไม่เหมาะสม

ปรับลดวงเงินอย่างน้อย 50% ของวงเงินซื้อขายหลักทรัพย์ และ ระงับการให้บริการการส่งคำสั่งซื้อขายผ่านระบบออนไลน์

หมายเหตุ: สมาชิกอาจพิจารณาดำเนินการปรับลดวงเงินของลูกค้าได้ ในกรณีดังนี้

  1. พบพฤติกรรมซื้อขายที่ไม่เหมาะสม ส่งผลต่อสภาพปกติของตลาด (False Market)
  2. พบพฤติกรรมที่เข้าข่ายการฟอกเงิน
  3. พบพฤติกรรมการซื้อขายที่เป็นกลุ่ม หรือเป็น Nominee​

ตัวอย่างการกำหนดวงเงินซื้อขายหลักทรัพย์ของลูกค้า
 ตัวอย่างที่ 1: ความไม่เหมาะสมของเอกสาร หรือ ข้อมูลที่ใช้ประกอบการพิจารณากำหนดวงเงินของลูกค้า

เอกสารไม่เหมาะสม

  1. ไม่มีเอกสารประกอบหรือรายละเอียดเกี่ยวกับการเป็นเจ้าของกิจการ
  2. แหล่งรายได้ไม่ชัดเจนและไม่มีหลักฐานยืนยันข้อมูลที่ลูกค้าให้
  3. ลูกค้ามีหุ้นใน Portfolio แต่ไม่มีหลักฐานหรือมีหลักฐานที่ไม่สามารถใช้ยืนยันว่าลูกค้ามีหุ้นดังกล่าวจริง
  4. ไม่มีหลักฐานประกอบแสดงแหล่งที่มาของรายได้ที่ชัดเจน

ข้อมูลไม่เหมาะสม

  1. ให้วงเงินจากยอดเงินฝากที่สูงสุดใน Statement โดยไม่พิจารณาข้อมูลที่ปรากฏในรายการอื่นๆประกอบ
  2. วิธีการคำนวณจำนวนเงินฝากธนาคารเฉลี่ยย้อนหลัง 3 เดือนไม่เหมาะสม
  3. บัญชีเงินฝากธนาคารของลูกค้าที่ปรากฏข้อมูลย้อนหลังที่นำมาใช้พิจารณากำหนดวงเงินมีรายการไม่สม่ำเสมอ

ตัวอย่างที่ 2: กรณีที่บริษัทควรทบทวนวงเงินซื้อขายของลูกค้าและรวมถึงทบทวนการทำ KYC/CDD

การโอนเงิน/หลักทรัพย์

  1. โอนเงินหรือหลักทรัพย์เข้าบัญชีเพื่อเพิ่มวงเงินและมีการโอนเงินหรือหลักทรัพย์ดังกล่าวออกไปยังบัญชีของตนเองหรือบุคคลอื่นที่บริษัทแห่งอื่น ซึ่งอาจหมายถึงลูกค้ามีการใช้หลักทรัพย์เดิมเวียนเป็นหลักประกันเพิ่มวงเงิน
  2. อีกหลายบริษัท
  3. โอนเงินเข้าออกถี่และมีเลขที่บัญชีในการรับโอนหลายบัญชีโอนหลักทรัพย์จากบัญชีไปยังบุคคลอื่นในจำนวนครั้งและปริมาณที่เกินความเหมาะสม

การติดต่อ/ที่อยู่/เอกสารตีคืน

  1. เปลี่ยนแปลงที่อยู่ในการรับเอกสาร เปลี่ยน email ในการติดต่อ เปลี่ยนลายเซ็นหลังเริ่มซื้อขายไม่นานหรือมีการเปลี่ยนแปลงที่อยู่มากกว่า 1 ครั้งในระยะเวลาใกล้เคียงกัน
  2. ลูกค้าหลายรายใช้ที่อยู่ติดต่อหรือ email address หรือ IP Address เดียวกัน
  3. มีเอกสาร เช่น ใบยืนยันการซื้อขายหลักทรัพย์ รายการแสดงทรัพย์สินตีคืนกลับเป็นประจำบ่อยครั้งโดยไม่สามารถหาสาเหตุหรือติดต่อลูกค้าได้

ข้อกำหนดของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

  1. ลูกค้าที่ตลาดหลักทรัพย์ฯหรือหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องมีข้อสังเกต
  2. ส่งคำสั่งซื้อขายที่อาจไม่เหมาะสมตามเกณฑ์ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯกำหนด
  3. มีรายการที่อาจเข้าข่ายธุรกรรมต้องสงสัย (STR)

วงเงิน/Cash Balance

  1. มีการขอเพิ่มวงเงินเพิ่ม เป็นจำนวนมากในระยะเวลาอันสั้น
  2. ลูกค้าที่ซื้อขายหลักทรัพย์ที่เข้าเกณฑ์ Cash Balance จำนวนมาก เมื่อเทียบกับการซื้อขายรวมของลูกค้า 
TOP